Review: Draft Day ต้องเขียนเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม


*คำเตือน* เนื้อหาเปิดเผยส่วนสำคัญของภาพยนต์

       ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีภาพยนต์เกี่ยวกับวงการกีฬาออกมาก็หลายเรื่อง ทั้งที่ฟอร์มดีออกมาแย่ และดูเหมือนแย่แต่ออกมาดี ไม่ต่างอะไรกับการดราฟท์นักกีฬามหาลัยในชีวิตจริง Draft Day พาเราตามติดชีวิตในวันคัดเลือกนักกีฬาของ ซันนี่ วีเวอร์ (เควิน คอสเนอร์) ผู้จัดการทีมคลีฟแลนด์ บราวน์ ซึ่งกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน เนื่องจากเพิ่งเสียโค้ชในตำนานคือวีเวอร์ผู้พ่อ รวมถึงความกดดันของเจ้าของทีมที่ต้องการสร้างจุดขายของทีมขึ้นมาอีกครั้ง รวมถึงปัญหาในชีวิตคู่ที่รุมเร้า และแรงกดดันจากคนในเมืองต่อทีมที่พวกเขารัก ที่ทำให้คนดูอย่างเราแทบจะคลั่งไปกับแรงกดดันดังกล่าวที่ถาโถมเข้ามามากมายภายในวันเดียว

       ในอีกมุมหนึ่งผู้เล่นซึ่งกำลังจะถูกดราฟท์ ต่างตั้งความหวังพร้อมกับตัวแทนว่าตนเองจะถูกดราฟท์ออกมาโดยคุ้มค่าตัวและตรงกับทีมที่ตนต้องการไม่ว่าจะเป็น LB วอนเท แม็ค, RB คู่พ่อลูกเจนนิ่งซึ่งอยากได้เล่นทีมเดียวกับที่พ่อตนเคยเล่น (ซึ่งคนลูกที่เล่นนี่คือ Arian Foster ตัววิ่งจริงๆ ของทีม Texans) และสุดท้ายคือ โบ คัลลาฮาน QB ดีกรี Heisman Trophy ที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็น No 1 Overall ในปีนี้

       ถึงแม้ผมจะเป็นแฟนทีม Jets และแทบจะไม่รู้เรื่องอะไรของทีมนี้เลย ภาพยนต์เรื่องนี้ก็ยังปูพื้นถึงความผูกพันของชาวเมืองคลีฟแลนด์ต่อทีมซึ่งเคยถูกพรากไปจากพวกเขาไปครั้งหนึ่งในอดีต การดำเนินเรื่องเองนั้นเต็มไปด้วยบทพูดซึ่งถ้าเป็นคออเมริกันฟุตบอลอยู่แล้ว ก็น่าจะรู้สึกอินมากไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงนักกีฬาในตำนานอย่าง Joe Montana, John Elway, Payton Manning หรือแม้กระทั่ง Tom Brady หรือแมทช์สำคัญๆ อย่าง Super Bowl XXIII ซึ่งจุดนี้เป็นตัวช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับภาพยนต์เรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้ฉากการเ่ล่นในจุดนั้นเข้ามาแทรกเลย

       นอกจากนั้นแล้วภาพยนต์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงเรื่องจริงซึ่งเรารู้อยู่แล้วคือ ไม่ว่าผลงานตลอดชีวิตมหาลัยจะดีแค่ไหน จะได้ Heisman Trophy หรือติด Senior bowl เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครจะเป็นอย่างไรในอนาคต คนที่ดราฟท์เข้ามาอาจจะเป็น MVP หรืออาจจะ Bust ของแบบนี้ไม่มีใครบอกได้เลยยกตัวอย่างได้เลยเช่น Mark Sanchez ซึ่ง Jets ดราฟท์เข้ามาเป็น No. 5 overall ตอนปี 2009 แต่เจ็บยาวจนต้องนั่งอยู่ข้างสนามแทบจะตลอดฤดูกาลที่แล้วจนโดนปล่อยตัวไปในที่สุด
     

       ในส่วนของนักแสดงเควิน คอสเนอร์เอาอยู่กับบทมากผมอาจจะวิเคราะห์ไม่เก่งแต่ผมคิดว่าแสดงออกมาได้ดีเลยและแบกทั้งเรื่องไว้แทบจะคนเดียว ในส่วนของเจนิเฟอร์ การ์เนอร์ก็แสดงอารมณ์ออกมายอดเยี่ยมไม่แพ้กันและทิ้งประโยคเด็ดไว้ให้เราจดจำไปอีกนานว่า "ทำไมเกียรติยศสูงสุดของนักกีฬาอาชีพ กลับจบลงที่เพชรชิ้นเล็กๆ" แต่อีกคนที่คนส่วนใหญ่ไม่น่าจะสังเกตุเพราะโผล่มาไม่กี่ฉากคือ Terry Crew ซึ่งแม้บทพูดจะน้อย แต่ออกมากินใจมากเช่น "ถึงแม้ลูกจะอยากเล่นให้บราวน์แค่ไหน แต่ถ้าทีมไหนเลือกลูกเข้าไปลูกก็ต้องเล่นให้ทีมนั้น ระบบมันเป็นอย่างนี้"

       ตัวบทของเองนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องสมมติ แต่ก็แทบจะทำให้เราอินไปกับความซับซ้อนในเกมการต่อรองของแต่ละทีมไม่ว่าจะเป็นการต่อรองของ Seahawk กับข้อเสนอ No 1 Overall แลกกับสิทธิ์ 1st round 3 ปีของ Brown หรือการต่อรองกับ GM มือใหม่ของ Jaguars ซึ่งวางไว้ยอดเยี่ยมมากโดยเฉพาะในช่วง 30 นาทีสุดท้ายของเรื่องที่ตัวหนังเล่นกับอารมณ์คนดู จนแทบจะนั่งไม่ติดเก้าอี้ ทั้งลุ้น ทั้งเครียด ทั้งซึ้ง ถาโถมเข้ามาสาดใส่อย่างไม่หยุดหย่อน จนกระทั่งจบเรื่องก็ยังอารมณ์ค้างอยู่มาอีกพักใหญ่ และพอกลับมาค้นคว้าแล้วรู้ว่าผู้กำกับ Ivan Reitman เลือกบทเรื่องนี้จาก 2012 Blacklist of Best Unproduced screenplays ยิ่งทึ่งขึ้นไปอีก ซึ่งหลายๆ เรื่องที่เป็นหนังดีๆ ที่ได้รางวัลไม่ว่าจะเป็น Argo, American Hustle หรือแม้แต่ The Hunger Games ก็ล้วนแล้วแต่เคยจัดอยู่ในรายชื่อนี้ทั้งนั้น

       แน่นอนว่าถ้าพูดถึงหนังเกี่ยวกับบทบาทของผู้จัดการทีม คงไปเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นเป็นไม่ได้นอกจาก Moneyball เรื่องจริงของทีมเบสบอล Oakland Athletics ที่ปฏิวัติวิธีการ Draft ใน MLB โดยใช้สถิติในการค้นหานักกีฬาจนประสบความสำเร็จมาแล้วซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว ภาพยนต์สองเรื่องนี้มีหลายๆ อย่างที่คล้ายกันมาก แต่สิ่งที่ให้แรงบันดาลใจไม่ต่างกันจากทั้ง 2 เรื่องนี้คือ บางครั้งการทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าดี ก็เป็นหนทางที่ยากลำบากเช่นกัน

       อย่างไรก็แล้วแต่โดยรวมแล้วถ้าคุณเป็นคออเมริกันฟุตบอล หรือคอกีฬาไม่ควรพลาดเรื่องนี้ด้วยประการทั้งปวง แต่ถ้าไม่เคยรู้จักกับระบบการดราฟท์หรือรูปแบบการเล่นของอเมริกันฟุตบอลมาก่อน หรือถ้าหวังไปดูฉากการเล่นสวยๆ ก็คงได้อรรถรสน้อยลงไปหน่อย

Review Score : 9/10

ปล.ในตอนท้ายเครดิตมีภาพการเล่นสวยๆ แทรกกับเครดิตแต่ผมนั่งดูทำไมไม่เห็นมี JETS เลย
ปปล. สำหรับ 2014 NFL Draft ของจริงนั้น เรียกได้ว่าตื่นเต้นพอๆ กันกับในหนังเลยทีเดียวโดย Browns ได้ QB ดีกรี Heisman Trophy อย่าง Johnny Manziel ไปใน No 22 Overall ปีนี้

แหล่งที่มา
http://blcklst.com/lists/
http://en.wikipedia.org/wiki/Draft_Day
http://www.ranker.com/list/draft-day-movie-quotes/movie-and-tv-quotes

Comments