เติมฝันให้เป็นจริงด้วยอไจล์คืออัลไล

       หนึ่งในวิชาบังคับที่ผมต้องเรียนให้ผ่านก่อนจบปี 4 คือวิชาสัมมนาครับ เป็นวิชาที่ นศ ในชั้นปีที่ 4 จะต้องแบ่งกลุ่มกันแล้วไปเชิญวิทยากรมาจัดงานสัมมนาหรือพูดง่ายๆ มาบรรยายนั่นเองครับ โดยในสัปดาห์นี้เป็นความรับผิดชอบของกลุ่มผมกับเพื่อนอีก 10 ชีวิต ได้ช่วยกันจัดงานขึ้นมาในเช้าวันนี้ซึ่ง วิทยากรก็ไม่ใช่คนที่ไหนไกลก็คือ คุณกุลวัฒน์ วงศาโรจน์หรือพี่ปอมจากกลุ่ม Agile66 นั่นเองครับ
       ระหว่างที่กลุ่มอื่นก็จัดงานสัมมนาไป ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานับว่าผมโชคดีมากที่มีงานสัมมนาเกี่ยวกับ Software จัดขึ้นมาตลอดทุกเดือนไม่ว่าจะเป็น Thailand Practical Software Engineering Conference และ Agile Tour Bangkok 2013 ซึ่งนอกจากจะไปหาความรู้มาประดับตัวจากงานแล้ว ทั้งสองงานยังมีจุดประสงค์แฝงคือการไป ทาบทามวิทยากรซึ่งก็คือพี่ปอมทั้งสองงาน ซึ่งก็น่ายินดีที่พี่ปอมตอบตกลงตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกันเลย ซึ่งหลังจากติดต่อกันหลังจากนั้นไม่กี่ครั้งก็ถึงวันงานซึ่งก็คือวันนี้

       ระหว่างรอวิทยากรมาทางกลุ่มก็ได้เปิดวิดีโอไปสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า "อไจล์คืออัลไล" ซึ่งได้ไปถ่ายทำและทำการสอบถามมาในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ บอกตามตรงว่ารู้สึกดีมากที่ได้เห็นหลายๆ คนยิ้มกับความดิบในคลิปโดยไม่ได้ตัดต่อแต่อย่างใด ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดของผมเองเพราะในตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะตัดต่อให้ดูดีเหมือน VRZO แต่ด้วยข้อจำกัดทางเวลารวมถึงติดปัญหานิดหน่อยทำให้สุดท้ายแล้ววิดีโอก็ไม่ได้ตัด ไม่ได้ใส่ซับ เลยออกมาเป็นไฟล์ดิบๆ อย่างที่เห็นในงาน
       โดยส่วนตัวแล้วตั้งแต่เลิกผมเลิกทำกิจกรรมก็แทบจะไม่ได้พูดต่อหน้าคนมากๆ อีกเลยวันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่พิสูจน์ว่า "ถึงจะซ้อมมาแค่ไหนก็สั่นได้" ถึงแม้คนที่มาร่วมจะเป็นเพื่อนร่วมภาคเดียวกัน แต่ก็ยังมีน้องๆ จากภาควิชาอื่นและก็ยังมี นศ. มาจากคณะอื่นด้วย ไม่สั่นก็ไม่รู้จะพูดยังไงแล้วครับ พอแนะนำวิทยากรเสร็จก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพี่ปอมแล้วครับ

       ข้อเสียของการเป็นคนจัดงานคือ ไม่มีโอกาสจดครับ เพราะต้องตั้งใจฟังแล้วก็เป็นหน้าม้าบ้างในบางโอกาส แต่มีคำพูดบางประโยคที่ผมจำได้จากการบรรยายผมอาจจะถ่ายทอดคำพูดไม่ได้เป๊ะๆ นะครับ แต่ประมาณว่า "อไจล์มันเป็นแค่แนวคิด คือ จะเอาไป Adapt กับอะไรก็ได้แทบทุกอย่าง" ซึ่งผมเห็นด้วยจริงๆ มันเหมือน Zen คือเอามาประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง แต่ผมนับถือ Agile มากกว่าจริงๆ แล้วอาจจะเป็นเพราะผมเป็นคนทำซอฟท์แวร์ด้วยเลยเข้าใจความรู้สึกในความหมายของคำๆ นั้นก็อาจจะไม่ผิดนัก
       อีกหนึ่งเรื่องเด่นๆ ที่ทุกคนเกือบทั้งห้องน่าจะสนใจคือตอนที่พี่ปอมพูดถึงทักษะที่จำเป็นที่สุดของโปรแกรมเมอร์ (ที่ไม่มีใครบอกคุณ) โดยทักษะที่ทุกคนสนใจที่สุดเห็นจะเป็น "การตั้งชื่อตัวแปรและเมธอด" เพราะไม่มีใครสอนในวิชาโปรแกรมมิ่ง (จริงๆ แล้วอาจจะมีแต่พอเขียนจริงๆ ก็ลืมกัน) ซึ่งก็จะโยงมาหาอีกทักษะหนึ่งก็คือ "การทำงานเป็นทีม" ครับ หลังจากนั้นพี่ปอมก็อธิบาย Agile Manifesto กับ อไจล์คืออะไร ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมอยากฟังคำอธิบายมากที่สุดในวันนี้ แต่น่าเสียดายที่ผมต้องออกไปคุยกับอาจารย์แว็บนึงเลยพลาดจุดนี้ไป

       พอกลับมาจากคุยกับอาจารย์พี่ปอมก็พาเล่น Ball Point Game โดยตอนแรกว่าจะเล่นข้างหน้าหอประชุมแต่เสียงดังมากเลยย้ายกลับมากระจายกันเล่นอยู่ทั่วพื้นสโลป โดยเกมส์นี้จะแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มละ 10 คนในที่นี้และเกมนี้มีกฏอยู่ 3 ข้อคือ
- ต้องทำการส่งบอลผ่านทุกคนในทีมถึงจะนับเป็น 1 แต้ม ถ้าตกไม่นับ
- บอลต้องมีการผ่านอากาศคือส่งต่อๆ มือต่อมือไม่ได้
- ห้ามส่งให้คนที่นั่งติดกัน
       โดยจะให้เวลา 2 นาทีแรกในการวางแผนแล้วก็ Estimate ว่า คิดว่ากลุ่มจะทำได้กี่แต้ม หลังจากผ่าน 2 นาทีแล้วก็จะเล่นจริง 2 นาที ซึ่งจุดนี้เป็นอะไรที่สนุกมาก (แต่เป็นคนจัดงานก็ไม่ได้เล่นด้วย T^T) ที่เห็นเพื่อนตอนแรกๆ งงๆ เริ่มที่จะคุยกัน เล่น แล้วยิ้มกัน หัวเราะกันออกมา เห็นการ Estimation ผิด เห็นแนวคิดการ Retro แบบต่างๆ กันแต่ละกลุ่ม พัฒนาการและเทคนิคที่ซับซ้อนของแต่ละกลุ่ม ผมไม่รู้ว่าเพื่อนที่เล่นอยู่สนุกมั้ย แต่ผมรู้สึกดีมากที่ได้เห็นกิจกรรมแบบนี้ รู้สึกดีจริงๆ บรรยายไม่ถูกเลย
       พอจบเกมพี่ปอมบอกว่าสิ่งที่สังเกตุเห็นที่นี่จริงๆ คือ Natural Velocity หมายถึง ทีมพอทำงานเต็มที่แล้วเนี่ย นั่งทำอยู่ที่เดิมแต่เปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ พอถึงจัดๆ หนึ่งก็จะเป็นจุดที่ทีมทำได้เร็วสุดล่ะ (และจุดนั้นจะ Estimate ได้ใกล้เคียงมากๆ ด้วย) ซึ่งจากประสบการณ์การทำ Agile มาทีมผมทำได้น้อยถึงน้อยมากเลยในจุดนี้ ต้องกลับไปทบทวนจริงๆ ว่าทีม Inspect & Adapt มากแค่ไหน (ถึงแม้เราจะทำ Retrospective ด้วยแล้วก็ตาม

       หลังจากนั้นแล้วพี่ปอมก็ได้พูดถึงศัพท์ต่างๆ ที่พอเราศึกษา Agile น่าจะผ่านหูผ่านตามาบ้างอย่างเช่น Continuous Improvement, Value Driven, Early Feedback (อันนี้ผมชอบมากกับการเปรียบที่ว่าการเขียนโปรแกรมก็เหมือนการดีดกีตาร์ ถ้าเราดีดไปแล้วต้องรอ 3 ชม. กว่าเสียงมันจะดังกลับมาคิดว่าเราต้องใช้เวลาเท่าไรในการเรียนดีดกีตาร์), Transparency ที่พูดถึงเรื่อง Trust และพูดถึงเรื่อง Code อีก 2 เรื่องคือ "Good code is its own best documentation." และประโยคเด็ดของลุงบ็อบผู้แต่ง Clean Code ที่แปลไทยได้ว่า "ถ้าเขียน Comment เมื่อไร รู้ไว้ซะว่า Code แกมันกาก" หลังจากนั้นก็ทวน Agile Manifesto อีกรอบแล้วแนะนำผู้ที่จะศึกษาเกี่ยวกับอไจล์ว่าควรจะทำไง (ง่ายก็คืออ่าน) โดยหนังสือที่แนะนำคือ Agile Samurai ซึ่งก็คือเล่มเดียวกับที่ผมชอบแนะนำน้องเวลามาถามเกี่ยวกับ Agile ว่าคืออะไร เพราะมันอ่านง่ายจริงๆ โดยเฉพาะฉบับแปลเถื่อนจากเกรียนเพรสที่อุตส่าห์ไปขุดมาจนเจอ

       สุดท้ายนะครับต้องขอบคุณวิทยากรคุณกุลวัฒน์และทีมงานมากๆ นะครับที่สละเวลามาให้ความรู้แก่พวกเรา 
ขอบคุณเพื่อนๆ ปี 4 ทุกคนนะครับที่มาเข้าสัมมนาในวันนี้, ช่วยกันตอบแบบสอบถามและร่วมกันทำกิจกรรมกัน
ขอบคุณวิทย์ ที่จัดการหาของที่ระลึกให้ รวมถึงเรื่องดูแลวิทยากรด้วย
ขอบคุณพัด ที่อุตส่าห์หากล้อง ตั้งกล้อง รวมถึงเดินถ่ายรูปทั้งงาน
ขอบคุณฟอร์ซที่คุยกับฝ่ายสถานที่ให้ ตอนที่เราไม่ว่าง
ขอบคุณบอลที่ช่วยติดต่อกับอาจารย์ตี๋ให้ตั้งแต่วันแรกยันวันงาน
ของคุณชาลี ที่ช่วยกันออกแบบโลโก้ให้ออกมาได้สวยขนาดนี้
ขอบคุณเฮน โอม บูมที่อุตส่าห์มาแต่เช้ากว่าปกติ แล้วก็ดูแลโต๊ะลงทะเบียนให้
ขอบคุณซ้ง ที่ช่วยเดินดูแลกลุ่มที่อยู่ข้างบน แล้วก็ช่วยกันแบกลำโพงไปไว้ข้างนอกด้วย 
ขอบคุณบิว ที่ช่วยกำกับตอนถ่ายคลิป และช่วยออกไอเดียแปลกๆ
ขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ช่วยกันแชร์ประชาสัมพันธ์งานไปในสาขาต่างๆ นะครับ
ขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ ในทวิตเตอร์ที่ช่วยกันรีทวีตประชาสัมพันธ์ เป็นทวีตที่โดนรีมากที่สุดตั้งแต่เล่นมาเลย
สุดท้ายขอบคุณกิจกรรมนี้นะครับ ที่ทำให้ฝันของผมในการเผยแพร่อไจล์ไปสู่คนหมู่มากในลาดกระบังเป็นจริง

ขอบคุณทุกคนอีกครั้งครับ ขอบคุณจริงๆ 

Comments