กินเนื้อย่างก็อไจล์
เมื่อเย็นนี้ผมกับน้องๆ ในชมรมมีโอกาสไปกินเนื้อย่างมาครับ จริงๆ แล้วจุดประสงค์ของการไปกินเนื้อย่างครั้งนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจากความอยาก อยากและ อยากที่สั่งสมมานานหลายสัปดาห์ ระหว่างที่กินๆ อยู่มีน้องคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า "กินเนื้อย่างนี่มันอไจล์มั้ยพี่" ซึ่งหลังจากคุยกัน ในวงเนื้อผมสรุปคร่าวๆ ได้ว่าการกินเนื้อย่างกับน้องๆ หรือเพื่อน มันไม่ต่างอะไรกับการทำโปรเจ็คซอฟท์แวร์เลยครับ
เรามามองที่ฝั่งเนื้อย่างก่อน ตอนที่เราเข้ามาในร้านทุกคนจะเลือกตำแหน่งที่จะนั่ง ที่ตัวเองจะกินได้สบายที่สุด บางคนเลือกที่จะนั่งตรงข้ามคนที่กินเก่งที่สุดเพราะ ถ้าอิ่มเมื่อไรมันจะได้กินแทนเรา ในกรณีนีนี้ผมไปกันห้าคน แบ่งกันเป็น 2 เตา ซึ่งน่าจะเดาไม่ยากว่าเตาหนึ่งก็จะมี 2 คนรับผิดชอบเป็นหลัก และมีน้องคนหนึ่งเป็นตัวเสริมอยู่ระหว่าง 2 เตานี้ พอเลือกที่นั่งได้แล้วพนักงานก็จะมารับออเดอร์ซึ่งการกินแบบบุฟเฟ่เราก็สั่งในสิ่งที่เราอยากกิน มากน้อยแล้วแต่ศรัทธา พนักงานก็รับออเดอร์ไป แล้วหลังจากนั้นเราก็รอ ระหว่างนี้เราจะตัดกลับมาที่โปรเจ็คซอฟท์แวร์กันก่อน
ในโปรเจ็คซอฟท์แวร์ทีมๆ หนึ่งจะประกอบไปด้วยคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่แตกต่างกัน จริงอยู่ที่ Agile มักจะบอกไว้ว่า Role ในทีมมันเป็นแค่สิ่งสมมติ แต่ถ้าเรามองในความสามารถจริงๆ ก็จะมีคนที่เชี่ยวชาญแต่ละสาขาอยู่นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ Senior กับ Junior อีกซึ่งก็คล้ายๆ กับการที่เราเลือกนั่งตรงข้ามกับคนที่กินเก่งกว่าในเตาเดียวกัน เมื่อเราฟอร์มทีมขึ้นมาได้แล้วสิ่งต่อไปคือรับงานจากลูกค้า ในกรณีนี้มันจะกลับกันเลยขอข้ามกลับไปที่ฝั่งกินเนื้อย่างกันต่อ
พอเนื้อที่สั่งมาถึง ซึ่งมันก็มักจะมากันในปริมาณมากๆ พร้อมๆ กันหลายอย่าง ตามที่แต่ละคนสั่งไป ซึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ในการกินของแต่ละคนว่าชอบกินอะไรก่อน กินอะไรหลัง หรือบางคน กินอย่างละนิดอย่างละหน่อย ให้รสชาติเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในปาก ก็แล้วแต่สไตล์ ทุกคนจะรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองสั่งมาในกรณีที่อิ่มแล้ว และเลือกที่จะช่วยกันกินในสิ่งที่คนอื่นกินไม่ไหวแล้ว ถ้ายังไหวอยู่นะ (ซึ่งก็อุดมคติมาก เพราะถ้าอิ่มจริงๆ ก็มักจะเกี่ยงกันหรือในกรณีที่เห็นวันนี้ย่างให้แล้วส่งให้ถึงจานเลย)
เวลาเราเก็บ Requirement จากลูกค้ามา ซึ่งก็สารภาพตามตรงว่าผมก็ไม่เคยเก็บจากลูกค้าจริงๆ เพราะทำแค่โปรเจ็คของปีสี่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและคล้ายกันคือสไตล์การทำงานมันไม่ต่างอะไรกับสไตล์การกินเลย เราเลือกในสิ่งที่เราชอบทำก่อน (หรือในบางกรณี ทำในสิ่งที่ง่ายกว่าก่อน) ในกรณีเวลาเราทำ Scrum เราต้องทำ Sprint Planning ซึ่งมักจะเลือก Requirement ที่สำคัญที่สุดมาทำก่อนคนเลือกคือใคร คือลูกค้า แต่ในกรณีนี้ลูกค้าคือตัวเองถามว่าจะเลือกอะไร แว็บนี้แหละที่แนวคิดแบบ Scrum มันโผล่เข้ามาและเห้ย มันจริง เราทำมันอยู่ทุกวันแหะ เราเลือกสิ่งที่เราอยากกิน (หรืออยากทำ) มาทีละนิดใส่ลงไปในเตาแต่ละรอบ ไม่ต่างจากการเลือกงานมาทำในแต่ละ Sprint เลย ซึ่งในเตาแรกเนี่ย จะคล้ายๆ เป็นการประเมินว่าในเตาหนึ่งมันวางเนื้อได้สูงสุดกี่ชิ้น รอบต่อไปเราจะกะได้โดยประมาณว่าจะวางได้เท่าไร ไม่ว่าเนื้อนั้นจะมาแบบลูกเต๋า เป็นแผ่น หรือเป็นเนื้อคนละชนิดก็ตาม
สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นอีกอย่างคือ ในแต่ละรอบของเตา รอบที่ 2-3 เป็นรอบที่เรากินได้มีความสุขที่สุดและมี Momentum มากที่สุด (รวมถึงเนื้ออร่อยสุดด้วย) ไม่ต่างอะไรกับการทำ Scrum ที่ Sprint แรกมักจะยังงงๆ อยู่แต่พอ Sprint 2-3 จะเริ่มจับจังหวะและเริ่มคล่องตัวได้ แต่ปัญหาของเนื้อย่างก็ไม่ต่างจากการเขียนโปรแกรมอีก พอเราทำไปจนถึง Sprint ที่ 4 หรือรอบเตาที่ 4 เนื้อในกระเพาะก็เริ่มเยอะขึ้นไม่ต่างจากการที่เรามี Code base มากขึ้นเมื่อเราทำโปรเจ็คไปซักระยะ ซึ่งจะทำให้การเพิ่มอะไรเข้ามาใน Sprint หลังๆ มันยากลำบากยิ่งขึ้น (ในกรณีกินเนื้อย่างคือ อิ่ม)
สุดท้ายที่ผมเห็นคือการเล่นแบบเป็นทีม เวลากินเนื้อย่าง ถ้าต่างคนต่างกิน สุดท้ายแล้วก็จะจุกตายกันไปหมด แล้วจากมีความสุขจะกลายเป็นความทุกข์กลับมา ไม่ต่างจากการทำซอฟท์แวร์ที่ถ้าต่างคนต่างทำ สุดท้ายงานก็เละ และเราก็จะไม่มีความสุขกับการที่เราทำมันเลย ซึ่งถ้าเรากินกันเป็นทีม แน่นอนว่าเราจะคอยระวังหลังให้เพื่อนร่วมทีม เราจะไม่โยนขึ้ (หรือกรณีนี้คือเนื้อ) เมื่อเราอิ่มแล้วให้กับเพื่อนร่วม ทีม เราจะค่อยๆ กินไปด้วยกัน จนกระทั่งถึงจุดที่เราพอ เราก็จะออกจากร้านไปอย่างมีความสุขไปด้วยกัน แต่สำหรับวันนี้ผมจุกมากครับ
ปล.ที่เขียนมาทั้งหมดในข้างต้นมาจากอารมณ์ล้วนๆ อิ่มมากครับ
Comments