ใครๆ ก็ทำอาหารได้ (anyone can cook)
ในชีวิตเรามักจะเจอใครซักคนมาคอยบอกเสมอว่า เราทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เราทำอย่างนี้ไม่ได้หรอก ซึ่งในบางครั้งเสียงนั้นมันก็มาจากภายในตัวเราเอง ถ้านับจนถึงวันนี้ผมก็กลับมาเขียนโปรแกรมแบบจริงๆ จังๆ มาได้เกือบจะปีนึงแล้ว คำถามคือ ก่อนหน้านั้นผมไปทำอะไรอยู่แล้วอะไรทำให้ผมกลับมา
ถ้าใครเคยได้ดูหนังเรื่อง Ratatouille (พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก) คงคุ้นเคยกับประโยคที่กล่าวไว้ว่า "ใครๆ ก็ทำอาหารได้" ซึ่งเป็นคำกล่าวของเชฟกุ๊สโตว์พ่อครัวที่เป็นแรงบันดาลใจให้เรมี่ (หนูในเรื่อง) เริ่มทำอาหาร เรมี่มีข้อจำกัดทุกอย่างที่จะทำให้ตัวเองไม่สามารถทำอาหารได้ รวมถึงตัวเรมี่เองนั้นเป็นหนู ซึ่งสำหรับพ่อครัวแล้วหนูแทบจะเป็นศัตรู เป็นสัญลักษณ์ของความสกปรก และไม่ควรอยู่ในห้องครัว แต่มันเองก็ยังมีพรสวรรค์อยู่ข้อหนึ่งคือ มีประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นที่เหนือกว่าหนูทั่วไป สามารถแยกแยะองค์ประกอบที่อยู่ในอาหารออกมาได้ ประกอบกับแรงบันดาลใจจากการแอบไปดูรายการทำอาหารในทีวีในบ้านของมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นให้เรมี่กล้าที่จะทำอาหารจริงๆ เมื่อถึงโอกาส
หลังจากเรียนวิชา Data Structure เสร็จตอนอยู่ปี 2 ตลอดสองสามปีที่ผ่านตัวผมเองนั้นแทบไม่ได้จับการเขียนโปรแกรมแบบจริงจังอีกเลย ซึ่งในระหว่างนั้นสิ่งที่สนใจส่วนใหญ่ก็จะเป็นการ Config ระบบหรือบริการต่างๆ บน Linux ซึ่งก็ไม่ใช่ว่างานนี้มันไม่สนุกนะครับ การแก้ปัญหาในการติดตั้งระบบต่างๆ ให้มันเข้ากับ Environment ของเราได้นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควรเลยทีเดียว ต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์ปัญหาจากสิ่งที่ Terminal มันแสดงผลออกมารวมถึงไฟล์ Log ที่อยู่ในเครื่อง ฯลฯ และมักจะมีบริการหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มาทดลองติดตั้งเสมอ จนกระทั่งเมื่อขึ้นปี 4 ถึงแม้ผมจะทำงานกับ Linux ได้ดี แต่เมื่อต้องเลือกที่จะทำ Project ทำอะไรที่เราอยู่กับมันไปหนึ่งปีเต็ม ผมเลือกที่จะเขียนโปรแกรมแทน ซึ่งนอกจากมันจะดูท้าทายเพราะผมไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมมาเกือบสองปีแล้ว สาเหตุที่ผมเลือกนั้นก็แทบไม่ต่างกับเรมี่คือ ผมมีแรงบันดาลใจ ซึ่งแรงบันดาลใจที่ว่านั้นก็คือ อไจล์ ที่ผมพูดถึงบ่อยมากจนหลายๆ คนเริ่มจะเบื่อแล้ว
สิ่งที่ผมเรียนรู้มาตลอดเกือบปีที่กลับมาเขียนโปรแกรมคือ ใครๆ ก็เขียนโปรแกรมได้ครับ ซึ่งไม่ต่างจากการทำอาหารอย่างที่ผมกล่าวในข้างต้นเลย เวลาเรามีปัญหาที่เราต้องการจะแก้เราจะเลือกใช้โค้ดของคนอื่นที่หาได้ทั่วไปใน Internet ที่สมัยนี้แทบจะหาไม่ยากเลยเพราะมีคนแก้ไว้หมดแล้ว หรือเราจะพยายามแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเอง ไม่ต่างจากการที่เราจะเลือกกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่แค่เอาน้ำใส่ถ้วย ฉีกผงชูรสใส่ หรือเราจะลงทุนเข้าครัวปรุงอาหารที่เราอยากกินขึ้นมาเอง แน่นอนครับมันอิ่มเหมือนกัน เหมือนกับที่งานเสร็จได้เหมือนกันแต่จะอร่อยมั้ยและยอมเสียเวลาทำมันมากแค่ไหนนั่นแหละครับคือสิ่งที่แต่ละคนเลือกต่างกัน
ตอนเราเริ่มต้นทำอาหารถ้าเราคาดหวังว่าเราจะทำอาหารหรูระดับภัตตาคารได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าครัว รับรองว่าตกลงมาเจ็บแน่ครับแล้วอาจจะเกลียดการทำอาหารไปเลยตลอดกาล แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ก่อนอย่างเช่นการทำไข่เจียวง่ายๆ เชื่อมั้ยครับว่า มันสามารถเป็นแรงผลักดันให้เราทำอาหารที่ต้องใช้วิธีทำที่ซับซ้อนขึ้นได้ นั่นแหละครับ สุดท้ายแล้วไม่ได้ต่างจากการเขียนโปรแกรมเลย
สุดท้ายแล้วความรักครับ ไม่ใช่ทุกคนครับที่รักการเขียนโปรแกรม เหมือนกับที่ผมก็ไม่ได้รักการทำอาหารซักเท่าไร แต่คนเราทุกคนมีโอกาสตกหลุมรักได้ครับ ถ้าเจอคนที่ใช้ ในเวลาที่เหมาะ ผมมาเจอคนที่ใช่คือ อไจล์ (อีกแล้ว) ในเวลาที่เหมาะ (ก่อนเริ่มทำโปรเจ็คหนึ่งเดือน) นั่นแหละครับ เป็นสิ่งที่ทำให้ผมกลับมาเขียนโปรแกรมได้สนุกอีกครั้งและเริ่มที่จะเรียนรู้ว่าการเขียนโปรแกรมมันไม่ได้มีแค่ "การเขียนโปรแกรม" เพียงอย่างเดียวและผมยังยินดีที่จะแนะนำเธอ (อไจล์) ให้ใครก็ตามที่อยากจะรู้จักอยู่เสมอ เพราะผมเชื่อว่าถ้าเขาเห็นเธอในแบบที่ผมเห็นแล้วหละก็ เขาอาจจะตกหลุมรักเธอเหมือนที่ผมเป็น ก็เป็นได้
รูปข้างบนจาก http://movingimages.files.wordpress.com/2008/11/from-ratatouille.jpg
Comments