Pocket Planes กับมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไป


       เป็นเรื่องที่แปลกอย่างนึงที่จังหวะชีวิตคนเราบางครั้ง เราเลือกที่จะเล่นเกมส์สั้นๆ เห็นผลลัพธ์ได้เร็วๆ ประมาณว่าถ้ารู้ว่าวิธีนี้ไม่เวิร์คอีกแปปนึงเราก็ได้ลองวิธีใหม่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันบางครั้งชีวิตเราก็เลือกที่จะเล่นเกมส์ยาวๆ อย่างอดทน เราไม่รู้หรอกว่าวิธีที่เราเลือกมันจะได้ผลเมื่อไร แต่สิ่งที่เราหวังไว้เสมอคือผลลัพธ์นั้นมันจะคุ้มค่ากว่าเกมส์ระยะสั้นที่เราได้ลองทำมา
       Pocket Planes เป็นเกมส์ที่ออกมานานมากแล้วครับย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2012 นู่น ผมจำได้ว่าผมรู้จักเกมส์นี้ครั้งแรกประมาณกลางปี 2013 ช่วงที่ใกล้ๆ จะเรียนจบ จำได้ว่าเล่นได้ไม่นานก็เลิกเพราะช่วงนั้นน่าจะติดเกมส์สั้นๆ ไวๆ อยู่เกมส์นี้เลยถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ที่ผมกลับมาเล่นมันใหม่ แล้วผมค้นพบว่าถ้ามองข้าม UI ที่เป็น Pixel ไม่ค่อยละเอียดไปแล้ว เกมส์นี้มีรายละเอียดเยอะระดับนึงเลย


       เกมส์นี้จะให้เรารับบทบาทเป็น CEO ของสายการบินของเราเอง เริ่มต้นก็จะมีเครื่องบินกากๆ ให้สองสามลำ วิธีเล่นก็ง่ายมากเพียงแค่เราจิ้มรับคนหรือพัสดุ ในเมืองต้นทาง แล้วบินไปเมืองปลายทาง แค่นี้คือพื้นฐาน พอสายการบินเราเริ่มขยายตัวมากขึ้น เส้นทางที่เราครอบคลุม รวมถึงจำนวนเครื่องบินที่เราบริหารก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องรู้ว่าเมื่อไรควรจะขยายสนามบินปลายทาง หรือเมื่อไรควรจะขยายฝูงบินหรืออัพเกรดไปใช้รุ่นใหม่กว่า
       กำไรที่ได้ในแต่ละเที่ยวบินในเกมนี้คิดจากระยะทางและระยะเวลาจากเมืองหนึ่งไปยังเมืองหนึ่ง ผมไม่รู้สูตรที่แน่นอนว่าคนคิดเกมส์เค้าใช้อะไรในการคำนวนกำไร แต่ที่แน่ๆ คือ ระยะทางที่สั้นที่สุดระหว่างเมืองสองเมืองนั้น มันต้องเป็นเส้นตรงแน่ๆ เพราะฉะนั้นถ้าเลี่ยงได้ ขนคนขึ้นเครื่องเต็มลำจาก A ไป B ย่อมได้กำไรมากกว่าขนคนไปส่งตามเมือง A C B อะไรประมาณนี้ แถมเกมส์มีโบนัส 25% ให้ด้วยถ้าขนคนหรือพัสดุไปในปลายทางเดียวกัน


       มองกลับมาที่ชีวิต บางครั้งเราเลือกวิธีที่เร็วที่สุด สั้นที่สุด เพื่อจะได้เห็นผลลัพธ์เร็วที่สุด แต่กำไรน้อยสุด บางครั้งเราอดทนรอจนถึงเวลาที่เราพร้อมเราเลือกเส้นทางที่ไกลที่สุด ใช้เวลานานที่สุด แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมามันก็มากขึ้นตามมาเช่นกัน
       ในเกมส์นี้มีหน้าวัดผลลัพธ์เราตลอดเวลาครับอยู่ในเมนู Logs จะวัดหน่วยเป็นกำไรต่อชั่วโมงเราแทบจะรู้ในทันทีว่า เครื่องรุ่นใหม่ที่เราลงทุนไปนั้น ผลกระกอบการมันคุ้มค่ารึเปล่าเมื่อเทียบกับเครื่องรุ่นเก่า บางครั้งการซื้อเครื่องรุ่นใหม่มาที่บินได้ไกล บรรทุกได้เยอะกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้กำไรมากกว่าทุกครั้งไป เพราะเรื่องนี้มันมีตัวแปรมากกว่านั้น
       ตัวแปรแรกเป็นเรื่องของประเภทเครื่องครับ ในเกมส์นี้เครื่องบินพอรุ่นสูงขึ้นจะแบ่งเป็นสามประเภทหลักๆ คือ Cargo, Passenger หรือ Mix ก็ตามชื่อนะครับ ซึ่งหลังจากเรียนรู้มาซักพัก ผมค้นพบว่าในหลายๆ กรณีการใช้เครื่อง Mix ที่สามารถบรรทุกได้ทั้งคนและพัสดุนั้น ได้กำไรในระยะยาวมากกว่าการใช้เครื่องประเภทบรรทุกอย่างเดียวในระยะเวลานานๆ มากกว่า อันนี้แค่ตัวแปรแรก


       ตัวแปรที่สองคือเรื่องของกลยุทธ ตอนช่วงเริ่มเกมส์ที่เราไม่มีเครื่องระยะไกลที่สามารถบรรทุกได้มากๆ ได้ วิธีที่เราจะทำกำไรได้เร็วและมากที่สุดคือ สร้างเมืองที่อยู่ใกล้ๆ กันแล้วบินมันให้ถี่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งแรกๆ นี้แค่ 5-10 นาทีก็ถึงอีกเมืองนึงแล้ว แล้วทำให้ผมต้องกลับมาจิ้มโทรศัพท์บ่อยมาก ทั้งวัน พอถึงจุดนึงในเกมส์วิธีจะใช้ไม่ได้ผล เพราะส่วนหนึ่งคือขี้เกียจด้วย เหนื่อยแล้ว อีกเหตุผลคือเครื่องบินกับเมืองจะแพงขึ้น ซึ่งเมืองก็จะแบ่งเป็นสามระดับอีก แล้วเครื่องบินที่ลำใหญ่ขึ้นก็ต้องการเมืองระดับ 2 ขึ้นไปซึ่งนั่นหมายความว่าวิธีแรกเราจะใช้ไม่ได้อีกแล้ว แล้วจะทำไง
       เกมส์มีระบบที่เรียกว่า Layover ครับมันสามารถทำให้เราขนคนหรือพัสดุจากเมืองนึงไปยังอีกเมืองนึงโดยที่ไม่ใช่เมืองปลายทางแล้วคนๆ นั้นปล่อยทิ้งไว้ รอเครื่องที่จะมารับไปส่งเมืองปลายทางอีกที ซึ่งด้วยความสามารถนี้ทำให้เราตั้ง Hub ขึ้นมาได้ กลยุทธนี้ใช้ได้ดีตอนที่เราเริ่มขยายสายการบินข้ามทวีปไปแล้ว ผมเปิด Hub ที่ New York โดยให้ทุกเมืองที่บินเข้าที่นี่ขนคนหรือพัสดุที่จะบินไป London มารอไว้ เพราะฉะนั้นเที่ยวบินที่ไป London ผมจึงได้ 25% โบนัสทุกรอบ ซึ่งชดเชยกับการขาดทุนที่เสียไปได้ในการขนคนมากองไว้ที่นี่ที่เดียว เห็นมั้ยครับถ้ายังดันทุรังใช้วิธีที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มเกมส์โดยไม่รู้จักปรับตัว สุดท้ายเราก็ได้แต่มองคนอื่นตาปริบๆ โตเร็วกว่าเรา เพราะฉะนั้นการรู้ตัวว่าเมื่อไรควรจะปรับแผนนั้นสำคัญมาก


       สุดท้ายครับ จริงๆ ผมก็เพิ่งกลับมาเล่นเกมนี้ได้สองสามอาทิตย์เนาะ แต่มันมีสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นตัวเองจากกราฟในรูปข้างบนนี้ครับ ตอนเริ่มเกมส์นั้นเราเห็นอัตราการเติบโตที่มันเป็นกราฟขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนจุดนั้นมันก็โอเคนะ แต่เห็นอะไรมั้ยครับ พอถึงจุดนึงผมบินมากเท่าไร กำไรมันก็ไม่เพิ่มขึ้นตามมา ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีอย่างที่บอกไปหน้าที่แล้ว แล้วเป็นไง คราวนี้กำไรกับระยะทางเพิ่มขึ้น แต่จำนวนเที่ยวบินน้อยลง หมายความว่าผมทำงานหนักน้อยลง (เข้ามาเช็คเกมส์น้อยลง) แต่ได้กำไรมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งสุดท้ายที่อยากจะพูดจริงๆ คือ บางครั้งสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบันมันอาจจะดี เราอาจจะเห็นว่าแค่นี้ก็พอใจแล้ว แต่พอถึงจุดนึง ถ้าเราหยุดพัฒนาหยุดคิด หยุดที่จะรับความเปลี่ยนแปลง สุดท้ายความคิดนั้นมันจะกลับมาเล่นงานเราเหมือนกับที่เห็นว่ามีช่วงนึงกราฟผมหวบลงไปเลย เพราะยังคิดไม่ออกว่าจะปรับกลยุทธยังไงให้มันรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แค่คิดไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ไม่ว่าจะลองผิดลองถูกแค่ไหน อย่างน้อยก็ถือว่าได้ลองแล้ว และถ้ามันสำเร็จแล้วมันพลิกสถานการณ์ให้กลับมาดีกว่าเดิมได้ นั่นมันไม่คุ้มเหรอที่จะล้มลุกคลุกคลานบ้างในระหว่างทาง แค่นี้แหละครับ กลับไปจิ้มเกมส์ต่อละ

ปล.จริงๆ มีอีกเกมส์ที่ผมว่ามันก็สะท้อนมุมมองผมได้ดีอีกเกมส์นึงคือ Motorsport Manager ไว้ถ้ามีอารมณ์อาจจะกลับมาเขียนนะครับ

Comments