วิวัฒนาการของบอร์ดที่ AdWise
เอนทรี่นี้ถ้าจะให้พูดตามตรงก็เหมือนภาคต่อของ TDE&W (3) :: Team Foundation Service เลยทีเดียว เพราะในเอนทรี่ดังกล่าวผมทิ้งท้ายไว้ว่าปัจจุบันผมไม่ได้ใช้ TFS แล้ว อย่างไรก็ตามเอนทรี่นี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมตั้งใจจะเขียนแต่แรกเพราะผมอยากจะพูดถึง Process ด้วย เพียงแต่ว่าวัฒนธรรมของเราที่ AdWise ยังคงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง, เปลี่ยนแปลงและเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ผมคิดว่าเรื่องกระบวนการทำงาน ผมรอให้ใกล้ๆ จบ Project II ค่อยพูดถึงน่าจะดีกว่า วันนี้เราจะมาพูดถึงบอร์ดกันครับ
สมัยตอนท้าย Project I เป็นช่วงที่เราเริ่มจะจริงจังกับการทำ Scrum เป็นอย่างมาก และหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำ Scrum ได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งโดยจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ TFS ซึ่งหน้าตาก็เป็นดังรูปที่แปะอยู่ข้างล่างนี้แหละครับ
เสียดายไม่เคยแคปหน้าจอไว้ตอนทำงาน แต่ก็จะหน้าตาประมาณนี้ ทีนี้เนี่ยพอปิดเทอมไป เราก็ไปพัฒนา Technical Skill แยกกันไปซะส่วนใหญ่ และยังไม่มีการใช้บอร์ดร่วมกัน เลยเป็นโอกาสที่ผมได้ทดลองหาเครื่องมือใหม่ๆ หลายตัวอีกครั้ง แต่ไม่ว่าผมจะพยายามหาเพียงแค่ไหน มันก็ยังสนองความต้องการไม่ได้ ผมต้องการเพียงแค่บอร์ดง่ายๆ ที่สามารถเอาไว้ดูงานได้ ไม่ต้องมีฟีเจอร์หรูหรา ยุ่งยาก ซึ่งในที่สุดผมก็กลับมาสู่จุดเริ่มต้นที่ผมทำ Agile นั้นคือ Eidos ครับ
ตัว Eidos เองเนี่ยตอนใช้แรกๆ ผมแฮปปี้กับมันมากครับ มีฟีเจอร์แค่บอร์ด, ตัวจัดการ Backlog แล้วก็ Burndown ซึ่งเพียงพอกับความต้องการแล้ว ดูเหมือนจะมีความสุขใช่มั้ยครับ ไม่ครับ ผมประสบปัญหากับการลากแล้วค้างบ่อยมาก (วิธีแก้คือกด Refresh แล้วลากใหม่) ซึ่งแรกๆ ก็ทนใช้ได้ครับ แต่นานๆ ไปมันเป็นปัญหาเกินไปแล้วนะ ผมเลยตัดสินใจเราต้องเปลี่ยนแล้ว กระบวนการค้นหาจึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง แต่ก็เหมือนครั้งที่แล้ว ไม่ว่าเราพยายามจะค้นหาแค่ไหน เราก็ไม่เคยเจอกับสิ่งที่ตรงกับที่เราต้องการจริงๆ (รอบนี้รู้สึกจะลอง JIRA ด้วยยิ่งใช้ยากหนักขึ้นไปอีก) สุดท้ายครับเราตัดสินใจกลับคืนสู่สามัญ สู่จุดเริ่มต้นที่เราเคยได้ลองเพียงน้อยนิดและประสบความล้มเหลวกับ Project ก่อนหน้าไปและเราไม่ได้ใช้มันอีกเลย เรากลับมาลองมันอีกครั้งนั่นคือ จุดเริ่มต้นที่เรากลับมาใช้ Physical
Board ครับ
จริงๆ แล้วบอร์ดในภาพข้างบนไม่ใช่บอร์ดแบบแรกที่ทีมผมเอากลับมาใช้นะครับ เนื่องจากตอนนั้นยังทำ Scrum กันอยู่ยังมี Sprint บลาๆ เพราะฉะนั้นแล้วเนี่ยโครงสร้างบอร์ดจะมีรายละเอียดหลายๆ อย่างมากกว่านี้ครับ แต่หลังได้มีโอกาสไปฟัง Lean/Kanban
Going beyond Scrum ที่งาน TPSE ทำให้ผมเกิดไอเดียหลายๆ อย่างครับ สิ่งสำคัญก็คือ Scrum เยอะไปสำหรับทีมเรา ข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดคือ ทีมเราต้องเรียนไปด้วยทำ Project ไปด้วยปัญหาที่เราเจอมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำ Scrum และยังแก้ไม่ได้เลยก็คือ เราไม่เคยส่งงานได้ครบทุกอย่างตามที่เราแบ่งไว้ในแต่ละ Sprint เลย กรณีดีสุดก็ยังเหลือซัก 1-2 งานเสมอ ซึ่ง Kanban ตอบโจทย์ข้อนี้ได้ครับ เพราะมีกฏแค่ 3 ข้อ (ผมคงไม่ลงรายละเอียดนะครับ) แต่เราก็ยังมีกรอบที่เราต้องทำอยู่คือ เราจำเป็นต้อง Release งานออกมาให้ได้ภายในทุกอาทิตย์ตาม Requirement ของ อ.ที่ปรึกษาของทีมเรา ซึ่งการทำแบบนี้มันดียังไง พูดง่ายๆ ก็คือตั้งแต่เปลี่ยนมาใช้ Kanban ผมและทีมไม่เคยกังวลเกี่ยวกับ Task ที่ค้างเกินอาทิตย์อีกเลย (หรืออย่างน้อยก็กังวลน้อยลง) เพราะยังไงมันก็เป็น Flow ไหลไปเรื่อยๆ ของมัน และนอกจากนั้นแล้วการที่เราหันไปดูบอร์ดแทนที่จะเปิดเว็บขึ้นมาลากๆ รวมถึงความสะใจในการย้ายงานจาก Todo ไปจนถึง Done นั้นมันเป็นอะไรที่ฟินมากและเราส่งงานได้ต่อเนื่องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นทำให้ผมมีเวลาทดลองอะไรบางอย่างดังรูปที่อยู่ข้างล่างนี้ครับ
ช่วงเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เป็นช่วงที่การเมืองอยู่ในภาวะ Unstable อย่างที่รู้กันแล้วทีมผมจากที่เคยรวมตัวกันทำงานอยู่ใน Office เดียวกันเลยได้โอกาสแยก (เนื่องจากมหาวิทยาลัยประกาศปิด แล้วตรงกับวันพ่อเลยหยุดยาวเลย) ผมเลยทำการทดลองกลับมาใช้บอร์ดอิเล็กอีกครั้งระหว่างที่เราไม่ได้นั่งอยู่ใน Office เดียวกัน เป็นเวลาเกือบ 1 สัปดาห์และทำ Retrospective หลังจากนั้นได้ผลดังต่อไปนี้ครับ
สรุปก็คือ ทีมชอบบอร์ดติดผนังมากกว่าในจอคอมครับ แต่ข้อดีข้อเสีย ก็อย่างที่เห็นในรูปคือ เราต้องอยู่ที่ Office เดียวกันถึงจะอัพเดทบอร์ดได้ และอีกข้อที่ไม่ได้กล่าวในนี้คือ เราทำ Estimation ลำบากมาก (จริงๆ แล้วต้องบอกว่าขี้เกียจมากกว่า) เพราะต้องมาคอยพล็อตจุดในกราฟวันต่อวันๆ (ซึ่งในปัจจุบันเราก็แทบไม่ได้ทำเลย ถึงแม้จะมีข้อมูลตลอดก็ตาม) ในตอนจบก่อนที่เราจะมาถึงปัจจุบันมีข้อสรุปว่าตัวบอร์ดที่แอบๆ ที่มุมกระดานมันไม่เพียงพอต่อปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นเสียแล้ว เราเลยตัดสินใจทำบอร์ดใหม่แยกมาจากกระดาน (เพื่อจะได้เอาไว้ทำอะไรได้มากขึ้น) ออกมาเป็นบอร์ดที่เห็นตามรูปบนสุดนั่นแหละครับ ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอีกก็เป็นได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "ทีมที่มีชีวิตต้องมีวิวัฒนาการ" แล้วเจอกันใหม่เอนทรี่หน้าสวัสดีครับ
Comments