The Theory of Everything


There should be no boundary to human endevour. How ever bad life may seem, while there is life, there's hope

       ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญรึเปล่า ที่ทำให้ช่วงเดือนที่ผ่านมามีหนังอัตชีวประวัตินักวิทยาศาสตร์ออกมาถึง 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ The Imitation Game ซึ่งเป็นชีวประวัติของ Alan Turing นักคณิตศาสตร์ที่สามารถถอดรหัสเครื่อง Enigma และมีส่วนช่วยให้อังกฤษชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ และอีกเรื่องคือ The Theory of Everything ซึ่งผมกำลังจะพูดถึงต่อไป

       The Theory of Everything เป็นภาพยนต์ชีวประวัติของ Stephen Hawking นักฟิสิกส์ด้าน จักรวาลวิทยา ผู้ตามหาคำตอบของคำถามที่ว่า จักรวาลมีจุดเริ่มต้นอย่างไร อย่างไรก็ตามถึงแม้ตัวภาพยนต์จะพูดถึงเรื่องยากๆ อย่างจักรวาลวิทยา (Cosmology) และทฤษฏีสัมพันธภาพทั่วไป (General Relativity) ตัวภาพยนต์ก็สามารถที่จะอธิบายได้โดยใช้ภาษาเปรียบเทียบที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องดังกล่าวเลย อย่างไรก็แล้วแต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญหลักของภาพยนต์เรื่องนี้ แต่เป็นที่ชีวิตของ Stephen Hawking เองต่างหาก
       ถ้าตัดความเป็นนักฟิสิกส์ออกไปเราจะค้นพบว่าภาพยนต์เรื่องนี้เป็นหนังรักที่มีเสน่ห์เป็นอย่างมากทุกๆ รายละเอียดในความสัมพันธ์ระหว่าง Stephen กับ Jane นั้นทำให้เราเชื่อสนิทว่าสองคนนี้เป็นคู่รักกันจริงๆ ซึ่งไม่ได้วาดภาพความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบหากแต่เป็นชีวิตคู่ที่เหมือนพวกเราทั่วไปที่มีทั้งสุข ทุกข์ และเศร้า ปนกันไป รวมถึงการต่อสู้กับโรคกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพของ Hawking ในตลอดหลายปีต่อมา จนกระทั่งถึงอาการปอดบวมซึ่งส่งผลให้ Hawking ไม่สามารถพูดได้ด้วยตัวเอง จนกระทั่งกระทั่งสามารถกลับมาเขียนหนังสือได้และหนังสือเล่มนั้นคือ A Brief History Of Time ซึ่งหลายๆ คนน่าจะรู้จักกันดี

       แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าส่วนหนึ่งที่ภาพยนต์เรื่องนี้มีเสน่ห์ติดตราตรึงใจเป็นอย่างมากเป็นเพราะการแสดงของสองนักแสดงนำทั้ง Eddie Redmayne ที่สามารถถ่ายทอดบทบาทของ Stephen Hawking ที่ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่าโรคร้ายที่เขาต้องเผชิญนั้นกำลังเกาะกินชีวิตและเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ทีละนิดๆ รวมถึงความมีอารมณ์ขันอย่างร้ายกาจของ Hawking ด้วยโดยที่ตัว Eddie Redmayne นั้นสามารถเก็บได้แทบจะทุกรายละเอียดเลยทีเดียว แถมหน้ายังเหมือน Hawking สมัยยังหนุ่มๆ อีกต่างหาก
       นอกจากนั้นแล้วการแสดงของ Felicity Jones ในบทของ Jane Wilde ภรรยาของ Hawking นั้นสามารถถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้อย่างทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ ในขณะที่ต้องเคียงข้างและคอยดูแล Hawking เป็นเวลาหลายปี โดยที่ต้องหยุดความฝันในการต่อปริญญาเอกทางวรรคดีศึกษาและดูแลลูกๆ ทั้งสามคนไปพร้อมๆ กัน
       จุดเด่นอีกอย่างนึงของภาพยนต์เรื่องนี้ที่ทุกคนพูดเหมือนกันคือภาพครับ Theory of Everything เป็นหนังที่ผมยอมรับเลยว่ามีการลำดับภาพที่สวยงามและมีเสน่ห์มากๆ แทบจะในทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเบลอโฟกัสหรือสี ทุกอย่างรู้สึกได้เลยว่าสมบูรณ์แบบจริงๆ

       ผมรู้จักภาพยนต์เรื่องนี้จากตัวอย่างมาได้หลายเดือนและคาดหวังว่าจะต้องดูให้ได้ น่าเสียดายว่าพอถึงเวลาเข้าฉากจริงนั้น ภาพยนต์เรื่องนี้กลับถูกเมินอย่างน่าประหลาด โดยเข้าฉายในโรงเครือเมเจอร์แค่ไม่กี่ที่ และในโรงเครือ Apex หลังจากบรรทัดนี้สปอย์แล้วนะ ถ้ายังอยากไปดูและประทับใจแนะนำให้ข้ามย่อหน้าไปย่อหน้าสุดท้ายเลย

       ผมเคยมีความรู้สึกแบบน้ำตาไหลพรากแบบนี้กับภาพยนต์ไม่กี่เรื่องในชีวิต โอเคผมอาจจะเป็นคนที่อินกับหนังง่าย แต่ถึงขั้นน้ำตาไหลพรากนี้ยิ่งน้อยไปใหญ่ Theory of Everything เริ่มบีบอารมณ์ตั้งแต่ฉากที่ Stephen กับ Jane เล่น Croquet แล้วและบีบเป็นพักๆ มาเรื่อยๆ ความกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยก็ยังมีอารมณ์ขัน ซึ่งแทรกมาได้เนียนจนไม่รู้สึกว่าเป็นการยัดเยียดเลย จุดที่ทำให้น้ำตาไหลพรากออกมาได้หลักๆ เลยมีสองฉากและทั้งสองฉากนั้นเพราะประโยคสั้นๆ ทั้งคู่
       ฉากแรกคือ ฉากที่ Stephen บอก Jane ว่าจะไปอเมริกากับ Elaine แล้วถามคำถามสั้นๆ ว่า "How many years ?" คือ ตั้งแต่แรกที่ Stephen ล้มแล้วหมอบอกว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อเสือมสภาพและจะอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี แต่ Stephen ก็อยู่มาได้หลายปีหลังจากนั้นเพราะการดูแลของ Jane พอคำถามนี้ออกมาปั๊ปภาพทุกอย่างที่เราสัมผัสมาตั้งแต่ Stephen เข้าโรงพยาบาลจนถึงฉากนี้มันย้อนกลับมาและมันเศร้ามาก เพราะแม้ Jane พยายามจะแก้ปัญหาในการดูแล Stephen มากแค่ไหนแต่มันก็หนักมากขึ้นเรื่อยๆ มากเกินกว่าที่ตัวเองจะรับมือไหว อย่างที่พ่อของ Stephen เคยเตือน Jane ไว้แต่แรกแล้วว่า "This is going to be heavy defeat"
       อีกฉากหนึ่งก็คือฉากสุดท้ายหลังจากพิธีรับเครื่องราชกับราชินี ที่ Stephen บอก Jane สั้นๆ ว่า "Look what we made" แล้วมองไปที่ลูกทั้งสามคน หลังจากนั้นภาพก็ไล่ย้อนกลับโดยไล่ตั้งแต่ฉากนี้ไปจนถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องแบบกลับหลัง ซึ่งจุดนี้เรียกได้ว่าตราตรึงใจมาก เพราะประเด็นหลักที่ Stephen ศึกษาคือเรื่องของ เวลา และต้องการที่จะกลับไปรู้ถึงจุดเริ่มต้นของเวลาเสมอ เปรียบเสมือนได้กลับการย้อนกลับไปดูอดีตแล้วพอเอาแนวคิดนี้มาประกอบกับเรื่องความสัมพันธ์แล้วไล่ย้อนกลับไปย้ำเตือนว่าตัวละครทั้งสองคนนี้ผ่านอะไรมาด้วยกันบ้างทั้งสุข ทุกข์ มันเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุด จนจบเรื่องแล้วตัดเข้า End credit ผลปรากฏว่า น้ำตาไหลพรากเลยครับแล้วพอหันไปดูคนข้างๆ น้ำตาไหลไม่ต่างกัน เป็นความรู้สึกที่ท่วมท้นจริงๆ

       ผมแนะนำหนังเรื่องนี้เลย มันไม่ใช่หนังชีวประวัตินักวิทยาศาสตร์ที่พูดเกี่ยวกับเรื่องที่เราไม่อาจเข้าใจได้ หากแต่เป็นหนังรัก ที่พูดถึงความสัมพันธ์ กำลังใจ และความหมายของการมีชีวิตอยู่ โดยใช้ "เวลา" ในการสื่อความหมายในหลายๆ อย่าง ซึ่งสามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามแม้แต่นิดเดียว

ปล.หลังจากดูจบผมนี้เดินเข้าคิโนะแล้วไปซื้อ A Brief History of Time เลย


Photo Credit: http://www.focusfeatures.com/the_theory_of_everything

Comments

Anonymous said…
เพิ่งดูจบแล้วยังไม่เกทเลยค่ะ ประโยคhow many years นีคือพระเอกถามนางเอกว่าอะไรหรอ
ไม่มีความสุขมากี่ปีแล้ว หรือรู้สึกดีกับโจนาธานกี่ปีแล้ว หรือยังไงหรอคะ