เรื่องยาวๆ เกี่ยวกับหนังสือ
สิ่งที่อยากจะบอกตรงๆ เลยคือ บ้านเป็นเสมือนกล่องเก็บความทรงจำ คืออย่างนี้ครับ ตั้งแต่ผมทำงานมาได้ประมาณ 2 เดือนกว่าๆ ก็เรียกได้ว่าวิถีชีวิตเปลี่ยนไปเยอะเลยทีเดียว แต่พอกลับบ้านมาครั้งนี้ ผมค้นกล่องที่แม่เก็บหนังสือที่ผมอ่านมาตั้งแต่สมัยมัธยมจนมหาลัยไว้อีกเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ความรู้สึกของการยกลัง ย้ายกล่องค้นหาหนังสือมัน "เหนื่อยมากครับ" ... ไม่ใช่ หลายๆ ครั้งที่พอผมได้เห็นหนังสือที่ผมเคยอ่านไม่ว่าจะเป็นสมัยมัธยมหรือช่วงอยู่ในมหาลัย หนังสือเหล่านั้นมันเป็นเสมือนกุญแจที่พาเราไขประตูกลับไปสู่ความทรงจำในช่วงเวลานั้น ความทรงจำต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี สิ่งที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็นแนวคิดหรือทัศนคติจากหนังสือเหล่านี้ ได้ทำให้เรากลับมา ค้นพบอีกครั้งว่าที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ คิดอย่างที่เป็นปัจจุบันนี้ มันเพราะว่าอะไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากนั้นแล้วภายในหนังสือเหล่านี้ เมื่อเปิดอ่านอีกครั้ง ความสุข ความสนุก บันเทิงใจ สาระ หลายๆ อย่างที่เราเคยได้รับมันมาเมื่อนานมาแล้ว มันกลับมาอีกครั้งและมันส่งผลให้รู้สึกอิ่มเอมใจ อย่างบอกไม่ถูก เป็นความรู้สึก "อีกครั้ง" ที่มีความสุข และมันมีความสุขทุกครั้งไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำให้เรารู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กในช่วงเวลานั้นอีกครั้ง
ใครที่อ่านในย่อหน้าที่ผ่านๆ มาบางส่วนคงคิดในใจว่า เอะนี่ชีวิตมึงมีแต่หนังสือเหรอ คือ มึงไม่มีเพื่อนให้ออกไปพบปะสังสรรค์ เฮฮาปาร์ตี้ ย้อนความหลังเหมือนคนปกติเขาบ้างเหรอ คืออย่างงี้ครับ ตั้งแต่เด็กจนเข้ามหาลัยผมเป็นหนึ่งในเด็กไม่กี่คนที่ผมรู้จักที่ย้ายโรงเรียนบ่อยกว่าคนปกติทั่วไป ไม่ใช่ว่าผมเป็นเด็กที่มีปัญหาจนต้องย้ายโรงเรียนหรืออะไรนะครับ จริงๆ แล้วผมเป็นคนที่เรียนดีระดับนึงเลยทีเดียว อาจจะไม่เก่งมาก กากบางวิชา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเอาตัวรอดมาได้ตลอด สาเหตุที่ผมย้ายบ้านบ่อยเนี่ย อันที่จริงแล้ว เป็นเพราะคุณพ่อกับคุณแม่ของผมเนี่ยเป็นข้าราชการ ถ้าใครเป็นลูกของข้าราชการก็น่าจะเข้าใจหัวอกเดียวกันคือ ย้ายบ้านบ่อยระดับนึงทุกๆ 3 - 4 ปี นั่นทำให้ชีวิตในวัยเด็กของผมนั้นเติบโตมาในหลายๆ วัฒนธรรม (พูดอย่างนั้นก็เว่อร์เกินไป เอาเป็นว่าหลายจังหวัดน่าจะจริงกว่า) ตลอดชีวิตก่อนเข้ามหาลัยผมอยู่ในจังหวัดต่างๆ มาทั้งสิ้น 4 จังหวัด โอเคครับก็ไม่เยอะเท่าไร แต่ในแต่ละจังหวัดนั้นเรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์ มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ซึ่งในระหว่างที่ผมกำลังเติบโตจากเด็กอนุบาลตัวน้อยๆ ไปเป็นเด็กประถม เรื่อยจนถึงมัธยม นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ร่ายมาตั้งย่อหน้านึงประเด็นมันอยู่ที่ การที่ผมต้องย้ายโรงเรียนบ่อยเนี่ย ทำให้ผมมีเพื่อนสนิทจริงๆ อยู่เพียงแค่ไม่กี่คนในชีวิตที่ผ่านมา หลายครั้งที่ผมต้องรีเซตกลับไปอยู่ในสถานะเด็กใหม่ แล้วต้องเริ่มสร้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ขับเคลื่อนชีวิตในโรงเรียนใหม่ทั้งหมด ในขณะเดียวกันนั้นเอง ผมก็มีเพื่อนคนนึงที่ไม่เคยห่างหายไปไหน และอยู่เป็นเพื่อนกันมาตลอดไม่ว่าผมจะย้ายไปอีกกี่จังหวัด เพื่อนคนนั้นผมก็คือหนังสือครับ (สุดท้ายละครับ ก่อนจะเข้าใจผิด ผมก็มีเพื่อนสนิทอยู่ครับ ที่ออกไปเที่ยว เล่น เรียนด้วยกัน ไม่ได้ปลีกวิเวกนั่งพูดอยู่คนเดียวกับกองหนังสืออย่างที่จินตนาการกัน)
... (ขอหยุดเบรค แป๊ปครับ คือไม่ได้เขียนลื่นๆ ติดต่อกันอย่างนี้มานานมากแล้ว (แล้วก็ดิบมากด้วย) ...
... โอเคครับ ต่อกันเถอะ
สามเล่มนี้เป็น เล่มโปรดเลยครับ
ผมโชคดีอย่างนึงที่ว่าที่บ้านผมสนับสนุนให้อ่านหนังสือเต็มที่ครับ ตอนเด็กๆ นี่ซีรีย์โปรดเลย คือหนังสือพวกที่ลงท้ายว่า โหด มัน ฮา นี่มีแทบทุกเล่ม ใครจะไปคิดครับว่าหนังสือพวกนี้มีส่วนส่งผลให้แนวคิดผมชอบประวัติศาตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์จนเรียนสายวิทย์ คณิต เรื่อยมาจนเรียนวิศว จบมาเป็นโปรแกรมเมอร์ (โอเคครับ ผมว่ามันข้ามช็อตไป ขอกลับมาก่อน) แต่ใช่ว่าจะบ้าอ่านแต่หนังสือความรู้ ที่ตอนนั้นไม่เคยรู้สึกว่าแม่งเป็นความรู้เลยครับ มันแฝงมาแนบเนียน สนุกและตลกมาก หนังสืออีกซีรีย์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้และเปลี่ยนชีวิตผมไปอีกชุดก็คือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ครับ คือ แฮร์รี่เนี่ยผมจำได้แม่นเลยว่า อ่านเล่มแรกตอนที่ตอนนั้นเล่มสามเพิ่งออกใหม่ๆ และตัดสินใจนานมากว่าจะไปอ่านเล่มสามเลยรึย้อนไปอ่านเล่มหนึ่งก่อนดี ่(ซึ่งหลังจากนั้นก็ตัดสินใจไปอ่านเล่มหนึ่งก่อน) สิ่งที่เจ๋งที่สุดเกี่ยวกับการอ่านแฮร์รี่นอกจากตัวหนังสือเองนั้น ผมจำได้ว่าตอนนั้นผมต้องอ่านแข่งกับพี่ แรกๆ ผมอ่านได้ช้ามาก หลังๆ เริ่มจะชอบมันจริงๆ ทำให้เล่ม 2 กับ 3 ตามมาติดๆ หลังจากนั้นไม่นาน และส่งผลให้หลังจากนั้นการอ่านหนังสือก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแบบกู่ไม่กลับเลยทีเดียว
แต่ก็ใช่ว่าจะอยู่กับหนังสือไปได้ตลอด ชีวิตมันเริ่มเปลี่ยนไปตอนที่บ้านผมมีคอมพิวเตอร์เครื่องแรก (ตอนนั้นน่าจะประมาณ ป.5 ถ้าจำไม่ผิด) แล้วทำให้ผมรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า Star Craft เป็นครั้งแรกในชีวิต มันเป็นเกมส์ที่สนุกและเล่นติดมาก เรียกได้ว่ามันกลายมาเป็นเพื่อนสนิทผมแทนคุณหนังสือ ภายในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งตอนนั้นก็เป็นจังหวะเดียวกับช่วงที่อ่านแฮร์รี่ไปได้ประมาณเล่ม 3 ถ้าผมจำไม่ผิด สงครามครูเซดในการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่เวลาว่างของผม ระหว่างกองทัพหนังสือกับวิดีโอเกมส์ กินเวลาหลายปี จนกระทั่งประมาณ ม.3 เกมส์คอมพิวเตอร์ก็ชนะสงครามครั้งนี้ไป โดยที่ตอนนั้นมีแม่ทัพชั้นนำอย่าง Ragnarok และ Counter Strike เป็นหัวหอกในการนำชัยชนะครั้งนี้มาให้ กองหนังสือต้องตกอยู่ภายในอิทธิพลของคอมพิวเตอร์ซึ่งแย่งเวลาว่างไปหมด อยู่ปีกว่าๆ จนกระทั่ง ม.5 ผมต้องย้ายโรงเรียนอีกรอบ และเป็นรอบสุดท้าย
อย่างที่ผมเขียนไว้ในตอนต้น การย้ายโรงเรียนใหม่ คุณต้องเริ่มทุกอย่างใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครู อาจารย์ สังคม และอีกหลายๆ อย่างที่ขับเคลื่อนในชีวิตเด็กมัธยม แต่มันก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะตอนก่อนผมจะออกจากโรงเรียนเก่าผลการเรียนของผมเองนั้น มันเริ่มที่จะโค้งลงมาได้ซักพักละ การได้รีเซตก็เหมือนได้ตั้งสติใหม่ และพออยู่ในช่วงชีวิตมอปลาย เป้าหมายนั้นมีเพียงแค่สอบเข้ามหาลัยเท่านั้น (แต่เรื่องนี้มันยังไม่เข้ามาในชีวิตเท่าไรตอนผมอยู่ ม.5 ) ผมกลับมาอ่านหนังสืออีกครั้งครับ อาจจะเป็นเพราะได้รู้จักกับเพื่อนคนนึงตอนนั้น และเธอเป็นคนที่อ่านหนังสือเหมือนๆ กัน ทำให้หลังจากนั้นไม่นานผมก็รู้จัก a day
Credit: http://book-dd.lnwshop.com/product/4726/abc-a-book-combo-vol-2-change-สินค้าหมด |
ผมขอข้ามเวลามาถึงปัจจุบันเลยละกัน เพราะรู้สึกว่ามันชักจะยาวเกินไปแล้ว (แต่เขียนมันส์มือที่สุดในรอบหลายเดือน อาจจะเป็นเพราะไปดุสพลังยีสต์มาตอนอยู่บ้านก็เป็นได้) ด้วยความที่ไม่ต้องอ่านหนังสือเรียนอีกต่อไป ทำให้ผมมีอิสระมากขึ้นที่จะอ่านหนังสือ พูดอย่างนี้อย่างกับตอนเรียนอ่านแต่หนังสือเรียน (ซึ่งอันที่จริงก็แทบไม่ได้อ่านซักเท่าไรถ้าไม่ได้สอบ) ผมยังอ่านหนังสือหลากหลายแนวอยู่ครับ อาจจะยกเว้นการ์ตูนไป (แต่ผมไม่ได้บอกว่าหนังสือการ์ตูนไม่สนุกนะ) แนวหลักๆ ตอนนี้ก็คงจะเป็น ประวัติศาสตร์ ซึ่งอ่านกี่รอบก็ยังสนุกเพราะยังมีเรื่องให้ค้นหาและทำความเข้าใจกับสิ่งที่ก่อให้เกิดสังคมอย่างในปัจจุบันอีกเยอะ วรรณกรรมซึ่งก็หลากหลายแนว บางเรื่องไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไรตอนซื้อเช่น Beatrice and Virgil หรือ Maggot Moon แต่สุดท้ายสองเล่มนั้นก็อ่านจนจบ แถมชอบด้วย รวมถึงอีกหลายๆ เล่มที่ไม่ได้กล่าวถึง วิทยาศาสตร์ที่ยังคงน่าสนใจอยู่เสมอซึ่งนอกจากอ่านหนังสือแล้วตอนนี้ยังมี WitCast ให้เสพอีกเรียกได้ว่ายังรู้สึกสด ใหม่ไม่ต่างจากตอนสมัยมัธยม และแนวสุดท้ายคือ Technical เนื่องจากอาชีพโปรแกรมเมอร์นั้น ความรับผิดชอบอย่างนึงคือต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลาทำให้หนังสือแนวนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตด้วยเช่นกัน ( จริงๆ จะเรียกว่า Technical อย่างเดียวก็ไม่ถูกเพราะมันออกแนว Productivity++ มากกว่าเช่น ReWork หรือ Pragmatic Programmer )
ก็นั่นแหละครับ สิ่งที่ผมอยากจะเล่าถึงความผูกพันธ์ที่มีกับหนังสือตลอดหลายปีที่ผ่านมาและยังคงจะเป็นอย่างนี้ไปอีกหลายปี ถ้าผมสายตาไม่เสียหายไปมากกว่านี้เสียก่อน
Comments